ตบหนักไม่ตาย สุดท้ายเสียเอง

ตบเค้าแทบตาย สุดท้ายก็ไม่ชนะ เค้ารับดี หรือ เราตบแย่นะ… 😭😭😭

เชื่อว่าลูกตบ เป็นลูกโปรดของนักแบดเกือบทุกคน ไม่ว่าจะมือสมัครเล่น หรือนักกีฬา การที่ได้ออกตบแรงๆใส่คู่แข่ง มันทั้งมันส์ ทั้งสะใจ ยิ่งถ้าตบเสียงแน่นๆ แล้วด้วย ช่างน่าภาคภูมิใจจริงๆ แต่ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ การที่มีลูกหนัก ก็อาจไม่ได้ทำให้เราชนะคู่แข่งได้ ยิ่งถ้าคู่แข่งมีฝีมือ รับเหนียวๆ ตบหนักๆ ไปก็คืนมาได้ เหมือนตีใส่ผนังไปจนสุดท้ายตีออก ตบติดเน็ตแทน

จริงๆ แล้วการมีลูกตบหนักๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูก winner เสมอไป แต่เป็นลูกทำลายจังหวะคู่ต่อสู้ ให้เสียบาลานซ์ เปิดพื้นที่คอร์ท และเปิดโอกาสให้คนหน้าได้ซ้ำทำคะแนน ถ้าเราดูมือระดับโลก เช่น Ivanov/Sozonov, Goh V Shem, Koh Sung Hyun ถึงจะมีลูกตบที่หนักหน่วง แต่ก็ยังไม่รั้งมือ 1 เท่ากับ Endo/Watanabe หรือ Kevin/Marcus ชายคู่จากอินโดนีเซีย ซึ่งเน้นความว่องไวและเหนียวสุดๆ ซึ่งทั้งสองคู่ไม่ได้มีลูกตบหนักเป็นอาวุธหลัก

ถ้าคุณมีอาวุธเด็ดเป็นลูกตบอย่างเดียว ตัดหยอดไม่เป็น คู่แข่งก็แก้เกมด้วยการไม่ยกให้คุณตบได้ง่ายๆ และรอคุณตบอย่างเดียว แต่ถ้าคุณมีลูกตัดคมๆ ด้วย ฝั่งตรงข้ามต้องระวังเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกตบมีผลมากขึ้น ที่สำคัญควรฝึกทักษะที่เสริมกัน เช่น ลูกที่เทคตบหนักจะเสริมกับการดักลูกแย้บของคนหน้า ลูกดาดที่เร็วแรงจะมาเสริมกับการดักตบครึ่งคอร์ท ลูกรับเหนียวๆ ต้องมาพร้อมกับความฟิต เป็นต้น

จะเห็นว่าเรามักให้ความสำคัญกับลูกตบหนักในเกมคู่จนมากเกินไป ซึ่งสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าน้ำหนักตบคือ ตำแหน่งที่ตบไปหาคู่ต่อสู้ ถ้าสุ่มสี่สุ่มห้าตบหนักๆ เข้าโฟร์แฮนด์ฝั่งตรงข้าม คู่ต่อสู้สาดมาที วิ่งร้อยเมตร คนหน้าก็อาจจะช่วยชีวิตคุณไว้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของการ ‘ควบคุม’ ทิศทาง และ น้ำหนักการออกลูกให้เหมาะกับสถานการ์ จะสร้างความได้เปรียบมากกว่า

จริงๆ การตีแบดมินตันแบบคู่นั้น มีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งการออกลูกจากด้านหน้าและหลังคอร์ท ทั้งการตำแหน่งการยืน การวนเข้าออก การเปลี่ยนเกม ทั้งหมดนี้ทีมงาน Jongnow จะทำคอนเทนท์ดีๆ มาให้นักแบดทุกท่านเรื่อยๆ อย่าลืมกดติดตามนะคะ