ทำไมคู่จีน Zheng Siwei และ Huang Ya Qiong ถึงเป็นมือ 1 ที่โค่นยาก

ทำไมคู่จีน Zheng Siwei และ Huang Ya Qiong ถึงเป็นมือ 1 ที่โค่นยาก

เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักกับนักแบดมินตันคู่ผสม ฝีมือไร้เทียมทานอย่าง Zheng Siwei และ Huang Ya Qiong มือวางอันดับ 3 จากประเทศจีน ที่เคยครองมือวางอันดับ 1 นานถึง 137 สัปดาห์รวม (129 สัปดาห์ติดต่อกัน) เป็นรองเพียงรุ่นพี่ Zhang Nan Zhao และ Yunlei ที่ครองสถิติเป็นมือวางอันดับ 1 ยาวนานถึง 236 สัปดาห์รวม (76 สัปดาห์ติดต่อกัน)

คนที่ติดตามดูการแข่งขันของ BWF คงจะได้เห็นการตีของคู่นี้ อย่างแรกที่นึกถึงคงไม่พ้นความเร็วและการบุกหนักๆ ของ Zheng Siwei เพื่อสร้างเกมและโอกาสในการทำแต้มหน้าเน็ตให้คู่ขา และการอ่านเกมของ Huang Ya Qiong ที่แม่นยำ จึงสามารถดักและทำคะแนนหน้าเน็ตและคว้าชัยชนะได้อย่างน่าประทับใจ 

วันนี้ Jongnow ขอมาไขข้อสงสัย ซึ่งคู่ผสมทีมชาติอังกฤษ Jenny Moore และ Greg Mairs ได้วิเคราะห์และทำสถิติมาให้ทุกคนได้เห็นถึงเหตุผลที่ทำให้คู่ผสมจากจีนสามารถครองบัลลังค์แชมป์ได้อย่างสวยงาม

  1. ความแม่นยำของลูก (Accuracy)
    เวลาที่เราดูอย่างผิวเผิน อาจจะเห็นว่า Zheng นั้นมีลูกตบที่หนักหน่วง แต่จริงๆ แล้วมีหลายคนที่ได้หนักกว่า Zheng มาก จากสถิติแล้ว Zheng มีลูกตบ winner มากกว่าคู่แข่ง (นักแบดชายคู่ผสม) ถึง 40% ซึ่งเกิดจากการที่ Zheng ตบเข้าตรงสะโพกด้านโฟร์แฮนด์ ซึ่งเป็นจุดที่รับได้ยากที่สุดได้อย่างแม่นยำมากกว่าคนอื่นๆ

Greg Mairs ทดลองตบใส่จุดเดียวถึง 3 ครั้ง ซึ่งการตบให้เข้าจุดได้ทุกครั้งนั้นยากมากๆ

นอกจากการตบของ Zheng แล้ว การออกลูกดาดและแย้บหน้าเน็ตของ Huang Ya Qiong เองก็มีความแม่นยำ เข้าจุดที่คู่ต่อสู้รับได้ลำบากเช่นกัน

ที่สำคัญคือการออกลูกที่หลากหลายซึ่งทำให้คู่ต่อสู้เดาทางได้ยากขึ้น ไม่รู้ว่าลูกจะมาลงตรงจุดไหน ทำให้คู่แข่งพะวงทั้งลูกหนักและลูกตัดหยอด

Image source : https://m88badminton.com/zheng-huang-axelsen-continue-winning-ways-in-indonesia/

2. การอ่านเกม (Reading game)

หลายครั้งในเกมเราจะเห็นว่าทั้ง Zheng Siwei และ Huang Ya Qiong สามารถไปยืนรอหรือไปดักลูกที่คู่ต่อสู้ตีกลับมาได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะ Huang Ya Qiong ที่มักจะขยับตามคู่ขากำลังบุก ไปยังจุดที่คาดว่าคู่แข่งจะตีกลับมา ซึ่งเกิดจากการสังเกตท่าทาง การเตรียมพร้อมและหน้าไม้ของฝั่งตรงข้าม ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ดักถูกทุกครั้ง แต่การขยับของ Huang Ya Qiong ทำให้คู่ขาเห็นว่า Huang Ya Qiong นั้นต้องการที่จะรับ (intercept) ลูกต่อมาและคู่ขาสามารถจะไปคุมพื้นที่อีกฝั่งได้

จะสังเกตได้ว่าทั้งสองคนจะไม่รีบเล่นลูก winner จนเกินไป ถึงแม้จะอยู่ในจุดที่ได้เริ่มได้เปรียบแล้วเพื่อลดโอกาสการตีเสีย (unforced error) แต่ยังบุกอย่างต่อเนื่องจนมั่นใจว่าคู่แข่งนั้นเสียเปรียบอย่างมากก่อนจะเล่นลูก winner โดยเฉพาะ Huang Ya Qiong เมื่ออยู่หน้าเน็ตจะใช้การวางหยอดหรือแย้บเข้าจุดมากกว่าการพยายามแย้บแรงๆ ตั้งแต่ลูกแรก ส่วน Zheng Siwei เองเมื่อลูกมากลางคอร์ทต่ำกว่าระดับเน็ตจะเลือกการวางหยอดคืนก่อน เพื่อบีบให้คู่ต่อสู้ต้องยกคืนมาสร้างโอกาสในการบุกอีกครั้ง แทนการเลือกโยนตั้งแต่แรก

3. ลูกเสิร์ฟ (Serves)
Jenny และ Greg ทำวิเคราะห์การเสิร์ฟของคู่ Zheng Siwei และ Huang Ya Qiong ตอนทำสถิติชนะ 35 แมทช์ติดต่อกัน ซึ่งเราจะเห็นว่าคู่ไร้เทียมทานทำแต้มติดต่อกัน 6 แต้มได้ถึง 24 ครั้งเมื่อเป็นฝ่ายเสิร์ฟ!

 

คู่นี้ทำได้อย่างไร? มี 2 เหตุผล
– คุณภาพของลูกเสิร์ฟ คือลูกเสิร์ฟที่เมื่อข้ามเน็ตไปแล้วมีทิศทางลง (downward direction) ทำให้คู่แข่งต้องตีลูกขึ้น (upward direction) เปิดโอกาสบุกต่อได้ทันที
 
– ความแน่นอน (consistency) คู่นี้เลือกที่จะเสิร์ฟเข้าตัว T หรือเข้าที่ตัวคู่แข่งมากถึง 85% จากการเสิร์ฟทั้งหมด ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้หลากหลายมาก แต่ทำให้การเสิร์ฟของคู่นี้เสียน้อยกว่าคู่แข่งถึง 65%

 
นอกจากลูกเสิร์ฟสั้นแล้ว ทั้งสองยังมีลูกยิงที่อันตราย ทำให้คู่ต่อสู้ที่จ้องรับลูกหน้าต้องระวังมากขึ้น ไม่สามารถยืนหน้าอย่างเดียวได้

การรับลูกเสิร์ฟ (Return of serves)
เราจะไม่ค่อยเห็น Zheng Siwei และ Huang Ya Qiong ได้คะแนนจากการเปิดลูกเสิร์ฟ winner เป็นลูกแรก นั่นหมายความว่าโอกาสผิดพลาดตีเสียก็น้อยลงเช่นกัน ซึ่งคู่นี้เลือกที่จะเปิดที่บังคับให้คู่ต่อต้องตีเข้าจุดเด่นของตัวเองที่สุด เช่น Zheng Siwei มักจะเปิดลูกเสิร์ฟเข้ากลางคอร์ท (ทั้งแรงและเบา) ให้คู่ต่อสู้ต้องยกคืนไปให้ตัวเองได้บุกต่อทันที ส่วน Huang Ya Qiong เลือกที่จะเล่นลูกหยอดหน้าเน็ตให้ฝ่ายตรงข้ามพยายามเล่นลูกหน้าเน็ตคืน (หลีกเลี่ยงการยกให้ Zheng Siwei) ซึ่งแน่นอนว่า Huang Ya Qiong เป็นมือหน้าที่น่ากลัวอย่างมาก

ที่สำคัญทั้งคู่จะหลีกเลี่ยงการยกลูก ด้วยความนิ่งและความเร็วที่สามารถเข้าถึงลูกได้ไว สามารถเลือกวางลูกได้เปรียบอย่างต่อเนื่อง

ลูกเสีย (Mistakes)
การตีเสียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับ Zheng Siwei และ Huang Ya Qiong ตีลูกเสียน้อยกว่าคู่แข่งถึง 35% ซึ่งแมทช์ที่ Jenny และ Craig เจอกับคู่นี้ Jenny และ Craig ตีเสียเองมากถึง 22 ลูกในขณะที่ Zheng Siwei และ Huang Ya Qiong ตีเสียเองเพียง 6 ลูกเท่านั้น นอกจากนี้ คู่จีนยังมีเกมรับที่เหนียวแน่นอีกด้วย

มาดูวิธีการซ้อมกว่าจะมาเป็น Zheng Siwei